วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555

ลักษณะอาการ "โรคไวรัสวงแหวนมะละกอ"

ดังที่ทราบกันทั่วไปว่าโรคอันตรายที่สุดของมะละกอคือไวรัสวงแหวน PRSV แต่จากการสำรวจแหล่งปลูกมะละกอทั่วไทยเมื่อปี  พ.ศ.2551-52 ของสำนักงานกองทุนสนับสนุน การวิจัยโดยการให้ทุนวิจัยแก่นักวิจัยของมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศที่เป็นแหล่งปลูกมะละกอสำคัญปรากฏว่ามีชาวสวนมะละกออีกเป็นจำนวนมากที่ไม่รู้จักโรค ไวรัสวงแหวนมะละกอŽ เช่นเดียวกับชาวสวนผู้ที่ปลูกมะละกอมืออาชีพอีกจำนวนมากที่ยังไม่ชัดเจนเกี่ยวกับอาการของโรคนี้ ตัวผมเองได้ปลูกมะละกอติดต่อกันมาหลายรุ่นและได้เก็บรายละเอียดลักษณะอาการของโรคนี้ทั้งที่สวนของตัวเองและที่สวนของเพื่อนสมาชิก ที่มีโอกาสไปเยี่ยมในหลายๆพื้นที่ ขณะเดียว กันได้ส่งตัวอย่างมะละกอที่ปรากฏอาการไปให้คลินิกพืชของกรมวิชาการเกษตรทำการตรวจวิเคราะห์ซึ่งในครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้ส่งตัวอย่างไปให้คลินิกพืช 3 ตัวอย่าง ขณะเดียวกันก็ส่งไปที่ภาควิชาโรคพืช  ม.เกษตรศาสตร์  ดร.ศรีเมฆ  ชาวโพงพางเช่นเดียวกัน ปรากฏว่าทั้งสามตัวอย่างเป็นไวรัสวงแหวนทั้งหมดเพียงแต่ระดับความรุนแรงต่างกัน  ในส่วนของคลินิกพืชของกรมวิชาการเกษตรคุณวันเพ็ญ ศรีทองชัย นักวิจัยไวรัสได้ใช้เครื่องมือตรวจเชื้อไวรัสมะละกอแบบรวดเร็วคือ Glift Kit ซึ่งถือว่าเป็นความก้าวหน้าที่น่าดีใจเพราะ  Glift Kit ที่ว่านี้สามารถนำไปใช้ในแปลงที่ไหนก็ได้ทำให้สะดวกและรวดเร็วในการวินิจฉัยโรคโดยเฉพาะในต้นกล้าหรือต้นในแปลงที่ยังไม่แสดงอาการเมื่อตรวจพบก็สามารถถอนออกไปทำลายได้ทันท่วงที  ลองพิจารณาภาพโรคชนิดนี้ที่ได้เก็บบันทึกจากที่ปลูกไว้ในหลายๆรุ่นและในหลากหลายสายพันธุ์


ประเด็นใหญ่ของการระบาดของโรคไวรัสมะละกอในบ้านเราที่รุนแรงและกว้างขวางยิ่งขึ้นเรื่อยๆก็เพราะเราไม่มีระบบควบคุมเพื่อตัดวงจรโรคประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็คือชาวสวนที่ปลูกมะละกอแขกนวลหรือแขกดำเพื่อขายเป็นมะละกอส้มตำยังนิยมปลูกในสวนส้มเก่าโดยเฉพาะการเช่าพื้นที่ซึ่งจะเน้นทำมะละกอคอเดียวแล้วทิ้งย้ายที่ไปที่อื่น  ดังนั้นมะละกอที่ปลูกเพื่อเก็บขายดิบเป็นมะละกอส้มตำแม้ต้นจะเริ่มแสดงอาการโรคไวรัสวงแหวนก็ยังเลี้ยงต้นเพื่อเก็บผลผลิตต่อไปจนวาระสุดท้ายก่อนจะย้ายถิ่นใหม่ โรคไวรัสวงแหวนจึงขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะหากมีการเก็บเมล็ดจากต้นที่เป็นโรคฯก็จะยิ่งทำให้การแพร่ระบาดของโรคขยายวงกว้างไปเป็นลำดับและยากที่จะหยุดยั้ง





เรื่องของมะละกอพืชที่ทำให้ดีได้ยากแต่มีหลายประเทศที่ปลูกได้ดีแม้ยังใช้สายพันธุ์ที่ไม่ใช่จีเอ็มโอเช่นไต้หวันเป็นต้น  เมื่อเดือนที่แล้วทราบว่าชาวสวนรายหนึ่งที่ไต้หวันแอบนำเมล็ดมะละกอจีเอ็มโอไปปลูกทางการไปตรวจพบถูกปรับไปล้านกว่าเอ็นทีก็ล้านกว่าบาท กฎหมายเขาเข้ม งานวิจัยเขาก็เข้ม ความยากก็กลายเป็นไม่ยากครับ ดังนั้นเมื่อพบต้นที่แสดงอาการเกิดโรคใหม่ในพื้นที่เหล่านั้นก็ต้องรีบทำลายทันที รวมทั้งการระวังแหล่งที่มาของเมล็ดพันธุ์ ตลอดจนการเพาะกล้าให้สามารถป้องกันแมลงพาหะ โดยเฉพาะเพลี้ยอ่อนได้ด้วย

ข้อมูลจากโดย เปรม ณ สงขลา  วารสารเคหการเกษตร


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น